เทศบาลตำบลจันทบเพชร อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ : www.chanthopphet.go.th

 
 
ข่าวประชาสัมพันธ์


พระราชบัญญัติ ธงชาติไทย พ.ศ.2560

    รายละเอียดข่าว

รัฐบาลประกาศให้วันที่ 28 กันยายน ของทุกปีเป็น วันพระราชทานธงชาติไทย โดยปีนี้ครบ 99 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย ซึ่งในวันดังกล่าว สำคัญต่อกองทัพเรือด้วยเพราะธงชาติหรือธงไตรรงค์ และธงราชนาวี ปรากฏขึ้นพร้อมกันในพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2460 ลงวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2460
               พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธงนี้เป็นธงชาติไทย (ขณะนั้นยังเรียกชื่อประเทศว่าสยาม) เมื่อช่วงปลายปี พ.ศ. 2460 เพื่อแก้ไขปัญหาการชักธงช้างเผือก (ซึ่งใช้เป็นธงชาติมาตั้งแต่รัชกาลที่ 4) กลับด้าน และเพื่อเป็นอนุสรณ์ในการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 กับฝ่ายสัมพันธมิตร
ธงชาติไทย หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธงไตรรงค์ มีลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้สีหลักในธง 3 สี คือ สีแดง ขาว และคราม ภายในแบ่งเป็นแถบ 5 แถบ แถบในสุดสีน้ำเงิน ถัดมาด้านนอกทั้งด้านบนและล่างเป็นสีขาวและสีแดงตามลำดับ แถบสีน้ำเงินมีขนาดใหญ่กว่าแถบสีอื่นเป็น 2 เท่า ความหมายสำคัญของธงไตรรงค์นั้นหมายถึงสถาบันหลักทั้งสามของประเทศไทย คือ ชาติ (สีแดง) ศาสนา (สีขาว) และพระมหากษัตริย์ (สีน้ำเงิน) สีทั้งสามนี้เองคือที่มาของการเรียกชื่อธงนี้ว่าธงไตรรงค์ (ไตร = สาม, รงค์ = สี)
              ประวัติศาสตร์การใช้ธงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย สามารถสืบได้แต่เพียงความว่า มีการใช้ธงสำหรับเป็นเครื่องหมายของกองทัพกองละสีและใช้ธงสีแดงเป็นเครื่องสำหรับเรือกำปั่นเดินทะเลทั่วไปมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และยังไม่มีธงชาติไว้ใช้ดังที่เข้าใจในปัจจุบัน
ในพระนิพนธ์ ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวตามความในจดหมายเหตุต่างประเทศแห่งหนึ่งว่า ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2199 - พ.ศ. 2231) เรือค้าขายของฝรั่งเศสลำหนึ่งได้เดินทางมากรุงศรีอยุธยา เมื่อมาถึงที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ของไทย เรือฝรั่งเศสก็ชักธงชาติของตัวเองขึ้น ฝ่ายไทยยิงสลุตคำนับตามธรรมเนียม แต่เมื่อฝ่ายไทยชักธงขึ้นตอบบ้าง ฝ่ายฝรั่งเศสกลับไม่ยิงสลุตคำนับตอบ เพราะได้ชักเอาธงชาติฮอลันดา (ปัจจุบันคือประเทศเนเธอร์แลนด์) ขึ้นเหนือป้อมด้วยเหตุว่าไทยไม่มีธงชาติของตนใช้ (ขณะนั้นฝรั่งเศสกับฮอลันดาเป็นศัตรูกัน) ฝ่ายไทยได้แก้ปัญหาโดยชักผ้าสีแดงขึ้นแทนธงชาติฮอลันดา ฝรั่งเศสจึงยอมยิงสลุตคำนับตอบ เหตุการณ์ดังกล่าวจึงถือกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ธงชาติไทย ล่วงมาถึง พ.ศ. 2460 แถบสีแดงที่ตรงกลางธงค้าขายได้เปลี่ยนเป็น สีน้ำเงินขาบ หรือสีน้ำเงินเข้มเจือม่วงดังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน เหตุที่รัชกาลที่ 6 ทรงเลือกสีนี้เพราะสีม่วงเป็นสีประจำพระองค์ที่โปรดมาก เนื่องจากเป็นสีประจำวันพระราชสมภพคือวันเสาร์ และอีกประการหนึ่ง สีน้ำเงินยังแสดงถึงชัยชนะและความเป็นหนึ่งเดียวของฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เช่น ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ซึ่งใช้สีแดง ขาว น้ำเงินเป็นสีในธงชาติเป็นส่วนใหญ่ด้วย ธงชาติแบบใหม่นี้ได้รับพระราชทานนามว่า "ธงไตรรงค์" และอวดโฉมต่อสายตาชาวโลกครั้งแรกในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งกองทหารอาสาของไทยได้ใช้เชิญไปเป็นธงไชยเฉลิมพลประจำหน่วยอย่างไรก็ตาม ธงไตรรงค์ที่สร้างขึ้นสำหรับกองทหารอาสาในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งนั้นไม่ใช่ลักษณะอย่างธงไตรรงค์ตามที่กำหนดให้ใช้ในปัจจุบันและโดยทั่วไป แต่มีการเพิ่มรูปสัญลักษณ์พิเศษลงในธงด้วย โดยด้านหน้าธงนั้นเป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นในวงกลมพื้นสีแดง ลักษณะอย่างเดียวกับธงราชนาวีไทย (ทั้งนี้กำหนดแบบใหม่ให้ใช้พร้อมกันในคราวประกาศเปลี่ยนธงชาติด้วย) ด้านหลังเป็นตราพระปรมาภิไธยย่อ ร.ร. ๖ สีขาบ ภายใต้พระมหามงกุฎเปล่งรัศมีสีเหลืองในวงกลมพื้นสีแดง ที่แถบสีแดงทั้งแถบบนแถบล่างทั้งสองด้านจารึกพุทธชัยมงคลคาถาบทแรก (ภาษาบาลี) เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่กองทหารอาสาของไทยในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชนิพนธ์แก้ไขในตอนท้ายจาก "ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ" (ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน) เป็น "ตนฺเตชสา ภวตุ เม ชยสิทฺธินิจฺจํ" (ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยชนะจงมีแก่ข้าพเจ้าเสมอ)
พ.ศ. 2470 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า ธงชาติไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงมาหลายครั้งแล้ว ควรหาข้อกำหนดเรื่องธงชาติให้เป็นการถาวร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชบรรทึก พระราชทานไปยังองคมนตรี เพื่อให้เสนอความเห็นของคนหมู่มากว่า จะคงใช้ธงไตรรงค์ดังที่ใช้อยู่เป็นธงชาติต่อไป หรือจะกลับไปใช้ธงช้างแทน หรือจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงลักษณะธงชาติ กับวิธีใช้ธงไตรรงค์อย่างไร ผลปรากฏว่าความเห็นขององคมนตรีแตกต่างกระจายกันมาก จึงมิได้กราบบังคมทูลข้อชี้ขาด ดังนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระบรมราชวินิจฉัยลงวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2470 ให้คงใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติต่อไป
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 รัฐบาลต่าง ๆ ยังคงรับรองให้ใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติอยู่เช่นเดิม โดยมีการออกพระราชบัญญัติธงฉบับ พ.ศ. 2479 เป็นกฎหมายรับรองฐานะของธงไตรรงค์ และหลังจากเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทยในปี พ.ศ. 2482 รัฐบาลต่าง ๆ ก็ยังคงรับรองให้ใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติอยู่เช่นเดิม และรับรองมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีการออกพระราชบัญญัติธงฉบับ พ.ศ. 2522 เป็นกฎหมายรับรองฐานะของธงไตรรงค์ ต่อมาวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2559 ในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ประชุมซึ่งนำโดย พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรััฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้วันที่ 28 กันยายน ของทุกปีเป็น วันพระราชทานธงชาติไทย (อังกฤษ: Thai National Flag Day) โดยให้เริ่มในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560 เป็นปีแรก
                                               การเคารพธงชาติ 
                การแสดงความเคารพต่อธงชาติของทหารซึ่งมิได้อยู่ในแถวโดยการทำวันทยาหัตถ์ขณะทำพิธีธงลง ไฟล์:Standing for Thai National Anthem, Mo chit Bus Terminal, Bangkok, Thailand.OGG Play media ชาวไทยแสดงความเคารพต่อชาติด้วยการหยุดนิ่งในอาการสำรวมในระหว่างการบรรเลงเพลงชาติ แม้จะไม่เห็นการชักธงชาติก็ตาม การเคารพธงชาติในปัจจุบันได้ยึดถือหลักการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติ และธงของต่างประเทศ ในราชอาณาจักร พ.ศ. 2529 กล่าวคือ เมื่อมีการชักธงชาติขึ้นและลง ให้แสดงความเคารพโดยการยืนตรง หันไปทางเสาธง อาคาร หรือสถานที่ที่มีการชักธงชาติขึ้นและลง จนกว่าจะเสร็จการ ในกรณีที่ได้ยินเพลงชาติหรือสัญญาณการชักธงชาติ จะเห็นหรือไม่เห็นการชักธงชาติก็ตาม ให้แสดงความเคารพโดยหยุดนิ่งในอาการสำรวม จนกว่าการชักธงชาติหรือเสียงเพลงชาติ หรือสัญญาณการชักธงชาติจะสิ้นสุดลง
                 สำหรับการเคารพธงชาติของทหารนั้น เมื่อมีการชักธงชาติขึ้นและลง นายทหารสัญญาบัตรทุกนาย ให้แสดงความเคารพโดยการยืนตรงทำวันทยาหัตถ์ ไม่ว่าจะอยู่ในแถวหรือนอกแถว ส่วนนายทหารประทวนและพลทหาร ให้ทำวันทยาหัตถ์ขณะยืนอยู่นอกแถวทหารเท่านั้น หากอยู่ในแถวทหาร ให้ใช้ท่าตรง ส่วนแถวทหารที่มีอาวุธ นายทหารผู้ควบคุมแถวจะสั่งแสดงความเคารพโดยการทำวันทยาวุธ และสั่งเรียบอาวุธเมื่อธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาเรียบร้อยแล้ว พิธีกร เมื่ออยู่ในแถวเคารพธงชาติ สวดมนต์ สงบนิ่ง ให้ก้าวออกไป 1 ก้าว สั่งแล้วให้ถอยกลับเข้าที่
ธงราชนาวีของกองทัพเรือไทย ซึ่งตามพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 นับเป็นธงที่มีความหมายถึงชาติเช่นเดียวกับธงชาติไทย มีลักษณะเป็นธงไตรรงค์ ตรงกลางเป็นรูปช้างเผือก ทรงเครื่องยืนแท่นมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นอยู่ตรงกลางในวงกลมสีแดง ปลายขอบวงกลมสีแดงนั้นจดกับขอบแถบสีแดงพอดีทั้งสองด้าน ตามข้อมูลอย่างเป็นทางการของกองทัพเรือไทยนั้น ถือว่าธงนี้พัฒนามาจากธงแดงและธงเรือหลวงของสยามในสมัยต่าง ๆ ก่อนที่จะมีลักษณะที่แตกต่างจากธงชาติไปเล็กน้อยนับตั้งแต่ พ.ศ. 2434 เป็นต้นมา แบบธงที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้กำหนดให้ใช้พร้อมกับธงไตรงค์ซึ่งเป็นธงชาติเมื่อ พ.ศ. 2460 แม้ธงฉาน ซึ่งเป็นธงในราชการทหารที่ใช้สำหรับชักที่หัวเรือรบและใช้เป็นเครื่องหมายของเรือพระที่นั่งและเรือหลวง ก็มีพื้นเป็นธงไตรรงค์เช่นกัน แต่ว่าได้เพิ่มตราสมอสอดวงจักรภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ ซึ่งเป็นเครื่องหมายราชการของกองทัพเรือไว้ เพื่อให้ต่างจากธงชาติอย่างชัดเจน
                  ธงของทหารอีกอย่างหนึ่งซึ่งทหารทุกคนถือว่าเป็นธงที่สำคัญยิ่ง และเป็นธงที่จะต้องรักษาเอาไว้ด้วยชีวิต คือ ธงชัยเฉลิมพล ธงนี้เป็นธงประจำกองทหารซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใช้เชิญไปในพิธีการสำคัญทางทหารที่เป็นเกียรติยศของชาติและเชิญออกไปกับหน่วยทหารในยามทำสงคราม โดยถือว่าเมื่อธงชัยเฉลิมพล ไปปรากฏ ณ ที่ใดเสมือนหนึ่งพระมหากษัตริย์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในกองทัพทหารนั้นด้วยลักษณะโดยรวมนั้นเป็นรูปธงไตรรงค์สี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า (ขึ้นอยู่กับลักษณะที่กำหนดไว้โดยละเอียดในพระราชบัญญัติธง และกฎกระทรวงตามกฎหมายดังกล่าว) แต่ตรงกลางมีรูปเครื่องหมายประจำกองทัพที่สังกัดและจารึกชื่อของหน่วยทหารไว้ ที่บริเวณมุมธงชัยเฉลิมพลของทุกหน่วย (ยกเว้นธงชัยเฉลิมพลของหน่วยทหารเรือ) มีเครื่องหมายพระปรมาภิไธยย่อเปล่งรัศมีสีฟ้า และเลขหมายประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์ผู้พระราชทานธงภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ ส่วนทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์จะใช้ธงอีกแบบหนึ่ง ซึ่งกำหนดขึ้นเป็นธงชัยเฉลิมพลของหน่วยทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์โดยเฉพาะ



    เอกสารประกอบ

พระราชบัญญัติ ธงชาติไทย พ.ศ.2560
 
jpg 1391925733-1Page01-o.jpg
jpg 1391925733-1Page26-o.jpg
jpg 1391926153-1Page27-o.jpg
    วันที่ลงข่าว
: 28 ก.ย. 2563
    ผู้ลงข่าว : ผู้ดูแลระบบ